การผ่าตัดไซนัสโดยใช้กล้อง

การผ่าตัดไซนัสแบ่งง่ายๆเป็นสามแบบ คือ

1. การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง

1.1 Endoscopic sinus surgery เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องเป็นเลนส์แท่งยาว( Endoscope ) สำหรับสอดเข้าไปทางรูจมูก เพื่อนำแสงและจับภาพมายังสายตาของแพทย์ผ่าตัดและขณะเดียวกันแพทย์สามารถทำงานโดยเครื่องมือเล็กๆ ( Forceps) ภายในช่องจมูกโดยสามารถเห็นภาพขณะทำโดยละเอียด ปัจจุบันการผ่าตัดไซนัสส่วนใหญ่ใช้วิธีนี้ เพราะไม่ต้องเปิดแผลภายนอก

และไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนานและเจ็บแผลน้อยกว่า การผ่าตัดวิธีนี้สามารถทำโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthesia) หรือในรายที่ไม่ร่วมมือหรือเด็ก แพทย์สามารถทำผ่าตัดโดยการดมยาสลบ และในปัจจุบันได้มีการพัฒนา Forceps ชนิดต่างๆและเครื่องมือพิเศษเพื่อช่วยในการผ่าตัดเช่น Microdebrider ซึ่งใช้ในการดูดปั่นตัดเนื้องอกและเนื้อเยื่อในจมูก โดยเสียเลือดน้อยและร่นระยะเวลาผ่าตัด การผ่าตัดวิธีนี้ต้องอาศัยเครื่องมือดีและความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของแพทย์ผ่าตัด จึงจะได้ผลสำเร็จโดยปราศจากภาวะแทรกซ้อน( Complication )

ตัวอย่างวีดีโอการทำผ่าตัดไซนัสโดยกล้อง Endoscopic Sinus Surgery

1.2 Microscopic sinus surgery

เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องแบบสองตาที่มีกำลังขยายสูงส่องจากภายนอกจมูกเพื่อแพทย์ผ่าตัดทำงานภายในจมูกได้โดยใช้ Forceps ตัดเนื้องอกและเนื้อเยื่อในจมูกได้ ปัจจุบันทำการผ่าตัดโดยวิธีนี้น้อยลงเนื่องจากความชัดลึกของภาพไม่ดี ทำให้ทำงานในที่ลึกยากและความสว่างไม่ดีเท่าการผ่าตัดโดยใช้กล้อง Endoscope แต่การผ่าตัดวิธีนี้ก็มีข้อดีในแง่ที่แพทย์ผู้ผ่าตัดสามารถทำงานโดยใช้สองมือเต็มที่่ เช่นเดียวกันการผ่าตัดนี้สามารถทำโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ และการดมยาสลบ

2. การผ่าตัดโดยการเปิดแผลภายนอก ( External Approach ) เป็นการผ่าตัดที่มีการใช้มีดเปิดแผลที่ใบหน้า หรือเหนือเหงือกบนเพื่อเปิดเข้าสู่ไซนัสโดยตรง การผ่าตัดวิธีนี้มีข้อดีคือ เห็นโพรงไซนัสชัดพื้นที่ผ่าตัดกว้างทำให้การผ่าตัดง่าย ข้อเสียคือ ต้องเปิดแผลภายนอกอาจทำให้มีแผลเป็นเสียโฉม หรือเกิดอาการชาของใบหน้า หรือฟันบน และเสียเลือดมากกว่า นอนโรงพยาบาลนานกว่า เจ็บแผลมากกว่า ปัจจุบันทำผ่าตัดวิธีนี้น้อยมากแพทย์มักจะใช้ในกรณีก้อนใหญ่แน่นเต็มโพรงไซนัสหรือโครงร่างจมูกเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเนื้องอกมาก รายละเอียดมากกว่านี้จะไม่ขอกล่าวถึง ณ ที่นี้

3. Balloon Sinoplasty

การผ่าตัดไซนัสโดยการสอดอุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่า Ballon Catheter เข้าไปตาม Guide Wire ที่สอดเข้าไปในไซนัส โดยใช้ X-Rayแบบต่อเนื่อง หรือใช้ Guidewire " LUMA" ซึ่งนำแสงได้ หลังจากใส่ Balloon Catheter เข้าไปแล้ว วางระยะของ Balloon ให้ตรงกับ รูเปิดไซนัส แล้วอัดความดันเข้าไปในBalloon เพื่อถ่างรูเปิดไซนัสจนกว้าง หลังจากนั้นใส่สายสวนเข้าไปในไซนัสเพื่อล้างโพรงได้อย่างหมดจดโดยไม่จำเป็นต้องใช้การตัดหรือ ปั่นเนื้อในจมูกเลย นอกจากนั้นสามารถใช้อุปกรณ์พิเศษเพื่อใส่ยาเข้าไปค้างในโพรงไซนัสเพื่อการรักษาระยะปานกลางได้

ตัวอย่างการทำผ่าตัดในการสอดอุปกรณ์เข้าไปในไซนัสโหนกแก้ม Maxillary Sinus ในรายที่มีไซนัสอักเสบเรื้อรัง

ตัวอย่างการทำผ่าตัดในการสอดอุปกรณ์เข้าไปในไซนัสหน้าผากด้านซ้าย Frontal Sinus ในรายที่มีไซนัสอักเสบเรื้อรัง

วีดีโอสาธิตตามลิงค์

http://www.dupageent.com/surgical-procedures-balloon-sinuplasty-video.html

การถ่างรูเปิดโดยใช้อุปกรณ์พิเศษ Balloon Catheter โดยใช้ X-ray พิเศษซึ่งทำให้สามารถสอด Catheter เข้าไปในโพรงไซนัสเพื่อทำการล้างดูดหนองในโพรงไซนัส และสามารถถ่างให้รูเปิดไซนัสเปิดเพียงพอสำหรับการระบายหนอง มักใช้ได้ดีในกรณีของไซนัสโหนกแก้ม ( Maxillary Sinus ) และไซนัสหน้าผาก ( Frontal Sinus ) และ Sphenoid Sinus ข้อดีคือ สามารถทำแล้วกลับบ้านได้เลย หรือนอนโรงพยาบาลน้อยกว่าการผ่าตัดไซนัสทั่วไป ข้อเสีย คือ ค่าอุปกรณ์ผ่าตัดแพงมาก และมีเฉพาะในบางสถานพยาบาล และได้ผลไม่ดีในกรณีที่มีริดสีดวงจมูกมาก หรือเป็นโรคของไซนัสหลายโพรง