โรคภูมิแพ้ในเด็ก

โรคภูมิแพ้ในเด็ก Allergic Rhinitis in Children

โรคภูมิแพ้อากาศหรือโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นความผิดปกติเรื้อรังที่พบบ่อยในเด็กและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นใน ปัจจุบัน โรคภูมิแพ้มักจะเริ่มมีอาการตั้งแต่วัยเด็ก (มากกว่า 80 % ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ มีอาการก่อนอายุ 20 ปี ) ถึงแม้ว่าจะมีความชุกของการเกิดโรคนี้สูง แต่มักเกิดปัญหาในการวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดหรือการติดเชื้อทางเดินหายใจ แต่ไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นภูมิแพ้ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการตลอดทั้งปี ( Perennial Allergic Rhinitis ) เนื่องจากพ่อแม่เห็นว่าการที่เด็กมีน้ำมูกเกือบทุกวันทั้งปีไม่เป็นปัญหา หรือเพราะการวินิจฉัยผิดพลาดของแพทย์ผู้รักษาและไม่ได้ให้ความสำคัญของโรค ภูมิแพ้

ดังนั้นโดยส่วนใหญ่มักจะทราบว่า เด็กป่วยเป็นโรคภูมิแพ้เมื่อมีอาการแทรกซ้อน เช่นหูอักเสบ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้อากาศในเด็ก

- ประวัติครอบครัวเป็นภูมิแพ้

- สัมผัสสารก่อภูมิแพ้บ่อยๆ เช่น ฝุ่นบ้าน , ไรฝุ่น , แมลงสาบ , ขนสัตว์ เป็นต้น

- พิสูจน์โดยการทดสอบทางผิวหนัง ( Skin Test ) แล้วได้ผลเป็นบวก ( Positive ) หรือ

เจาะเลือดหาภูมิแพ้แบบเจาะจง ( Specific IgE) ให้ผลบวก

- มีการสูบบุหรี่ของพ่อแม่หรือคนเลี้ยงน้อง

ในประเทศไทยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการตลอดทั้งปีมากกว่าเป็นแบบตามฤดูกาล ( Seasonal Allergic Rhinitis )

อาการของโรคภูมิแพ้อากาศ

1. น้ำมูกใส จามประจำ แต่ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่นไซนัสอักเสบอาจจะมีน้ำมูกข้นเขียวในจมูกและไอร่วมด้วย

2. หายใจมีเสียงดังเหมือนเสียงกรน เป็นมากเวลานอน และในบางรายอาจมีอาการกระตุกและหยุดหายใจร่วมด้วย

( Sleep apnea )

3. ไอเรื้อรัง เนื่องจากมีน้ำมูกหรือเสมหะไหลลงคอมาก หรือในบางรายมีอาการหอบหืดร่วมด้วย

4. ในรายที่มีภูมิแพ้ของเยื่อลำคอ อาจมีอาการเจ็บคอบ่อยๆ หรือมีเสมหะในคอมาก

5. ปวดหู ในรายที่มาด้วยภาวะแทรกซ้อนทางหู เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง

6. ในบางรายมีปัญหาเรื่องการได้ยิน ทำให้มีผลต่อการเรียน

7. ในบางรายมีปัญหาทางการเจริญเติบโต เช่น น้ำหนักเพิ่มน้อย ทานอาหารได้น้อยลง ฯลฯ

การวินิจฉัย

• การตรวจร่างกายทางหู คอ จมูก โดยละเอียดเพื่อค้นหาโรคแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น

• การทำ Skin Test เพื่อยืนยันการวินิจฉัย และมีประโยชน์ในการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้ อย่างถูกต้อง การรักษาโดยการให้วัคซีนภูมิแพ้กับผู้ป่วย

การรักษาและการป้องกัน

โรคภูมิแพ้อากาศในเด็ก เป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รักษายากและเรื้อรัง เช่น ไซนัสอักเสบ , หูชั้นกลางอักเสบ , หอบหืด เป็นต้น ซึ่งถ้าได้รับการรักษาและป้องกันตั้งแต่แรกเริ่มจะป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ดีที่สุด

1. การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น , ไรฝุ่น , ขนสุนัข , ขนแมว , แมลงสาบ ฯลฯ จัดเป็นการรักษาและป้องกันที่ดีที่สุด

2. เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโดยการออกกำลังกายเป็นประจำ

3. หลีกเลี่ยงสารระคายเคือง เช่น ควันธูป , ควันบุหรี่ , ท่อไอเสียรถยนต์ ฯลฯ

4. ในกรณีที่พยายามหลีกเลี่ยง และพยายามออกกำลังกายแล้วอาการยังมีอยู่แนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางและรับการ รักษาดังนี้

4.1 การให้ยาต้านฮีสตามีนแบบรับประทาน

4.2 การให้ยาพ่นจมูกเป็นประจำเพื่อป้องกันการเกิดภูมิแพ้

4.3 การให้การรักษาโดยวิธี Desensitization ( การให้วัคซีนภูมิแพ้ ) เป็นการรักษาโรคภูมิแพ้ที่ต้นเหตุ และพบว่ามีอัตราการหายขาด 60–80 %

5. ในรายที่มีโรคแทรกซ้อนของภูมิแพ้ เช่น ไซนัสอักเสบ , หูชั้นกลางอักเสบ ให้รีบรับการรักษาที่ถูกต้องโดยแพทย์เฉพาะทาง